ผลงาน ของ พระศรีพนมมาศ (ทองอิน แซ่ตัน)

การคมนาคม

ในขณะที่พระศรียังมิได้รับราชการ คือในขณะที่เป็นนายอากรสุราอยู่นั้น ได้เริ่มทำงานชิ้นสำคัญคือ การสร้างถนนจากลับแลมาถึงตลาดบางโพ โดยความร่วมมือ ของราษฏรคือถนนอินใจมี โดยที่มิได้ใช้เงินของทางราชการเลย นอกจากนั้นยังได้วางผังเมืองลับแล และตัดถนนอีกหลายสาย เช่น ถนนสายลับแล-หัวดง ถนนสายลับแล-พระแท่นศิลาอาส์น-ทุ่งยั้ง และถนนในซอยสายต่างๆในเมืองลับแล

การชลประทาน

เดิมทีเดียวเมืองลับแลไม่มีน้ำที่จะอุดมสมบูรณ์อยู่ได้ตลอดปีเหมือนทุกวันนี้ พระศรีพนมมาศได้เริ่มสร้างฝายหลวงขึ้น ในการสร้างฝายหลวงนี้ ได้ใช้กำลังของราษฏรแท้ๆ และมิได้รับงบประมาณจากทางแผ่นดินเลยท่านเกณฑ์แรงงานทุกคนทุกตำบลให้มาช่วย งานบ้านละ 1 คน โดยผลัดเปลี่ยนเวียนกันทำงาน ทุกคนต้องพร้อมกันที่ฝายหลวงตั้งแต่เวลาตีห้าทุกวัน ถ้าผู้ใดมาช้ากว่ากำหนดหรือขาดงาน ก็ต้องได้รับโทษหนักเบาตามสมควรแก่โทษานุโทษเยี่ยงบิดากับบุตร ตัวท่านเองเป็นผู้ควบคุมงาน ท่านต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ และถือสังข์เป่าเป็นสัญญาณให้ชาวบ้านเตรียมตัวลุกไปทำงานทุกวัน จนได้รับสมญานานว่า "พระศรีทองสังข์" ด้วยความตั้งใจจริงของท่าน ฝายหลวงก็สำเร็จตามความปรารถนา เดิมฝายนี้สร้างด้วยไม้ นานปีเข้าก็ทานกระแสน้ำไม่ไหว จึงพังลงมาทำให้น้ำท่วมเมืองลับแลครั้งหนึ่ง ต่อมาเมื่อพระศรีพนมมาศย้ายไปเป็นเกษตรมณฑลพิษณุโลก ทางราชการได้เห็นความสำคัญของฝายนี้จึงได้สร้างเสริมต่อเติม ให้เป็นฝายที่ถาวรและใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง

นอกจากนี้ท่านยังสร้างฝายอื่นๆ อีก เช่น ฝายสมเด็จ ซึ่งมีประวัติเล่ากันมาว่าเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นสยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จฯ เยี่ยมเมืองลับแล พระองค์ได้ทรงทำพิธีทิ้งดินก้อนแรกเป็นปฐมฤกษ์ในการสร้างฝายขึ้น และโปรดประทานนามว่า "ฝายสมเด็จ" และยังมีฝายอีกหลายแห่งด้วยกันเช่น ฝายหิน ฝายหนองแม่อิน หนองเด่นหมาก และฝายจอมแจ้ง นับว่าพระศรีพนมมาศเป็นผู้วางรากฐานแห่งความเจริญในด้านการชลประทานให้แก่อำเภอลับแลเป็นคนแรก

ด้านการปกครอง

พระศรีพนมมาศเป็นนายอำเภอคนแรกที่ดำเนินการปกครอง แบบบิดาปกครองลูก เช่นในยามว่างทานจะออกเดินตรวจตราดูแลความทุกข์สุขของราษฏร์ แนะนำและตักเตือนให้ได้ปฏิบัติไปในทางที่ถูกต้อง และในทางที่ชอบถ้าท่านพบราษฏรคนใดทำผิดท่านจะว่ากล่าวตักเตือนทันที

ด้านการศึกษา

เมื่อครั้งพระศรีพนมมาศยังมีอาชีพเป็นนายอากรสุรา ท่านมีความสนใจเกี่ยวกับการศึกษาอยู่มาก ท่านได้ตั้งโรงเรียนราษฏร์ส่วนตัวขึ้นเป็นแห่งแรกของอำเภอลับแล แต่ตั้งอยู่ได้เพียงห้าปีก็ยุบเลิกไป เมื่อท่านดำรงตำแหน่งเป็นนายอำเภอลับแล ท่านได้ตั้งโรงเรียนขึ้นใหม่ ได้รับพระราชทานนามว่าโรงเรียนพนมมาศพิทยากร เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2450

ด้านการอุตสาหกรรม

งานชิ้นสำคัญของพระศรีพนมมาศอีกอย่างหนึ่งก็คือการทำไม้กวาดตองกง ท่านให้ราษฏรช่วยกันเก็บดอกตองกงซึ่งมีอยู่มากมายมาเก็บรวบรวมไว้ แล้วเรียกราษฏรตำบลแม่พูล ตำบลฝายหลวง และตำบลหัวดง มาตำบลละ 2 คน ให้มาฝึกทำไม้กวาดกับท่าน ท่านเป็นผู้หาส่วนประกอบมาให้เอง เมื่อฝึกทำจนเป็นแล้วก็เรียกราษฏรมาผลัดเปลี่ยนกันฝึกทำ จนทุกบ้านสามารถทำไม้กวาดตองกงชนิดนี้ได้หมด ท่านได้นำไม้กวาดทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และถวายเจ้านายอีกหลายพระองค์ด้วยกัน ต่อมาพระศรีพนมมาศได้ประกาศให้ราษฏรทำไม้กวาดส่งไปขายเป็นสินค้าจนถึงปัจจุบันนี้